วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

งานชิ้นที่4

งานชิ้นที่ 4

ให้เขียนบทความที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุดของชาติ (Ultimate Goal) ที่ว่า เรียนมีคุณภาพ (Quality Learner)

การศึกษา คือการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมีลักษณะนิสัยจิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะ ประกอบการงานอาชีพได้ การศึกษาช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม การศึกษาจึงเป็นความจำเป็นของชีวิตอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากความจำเป็น ด้านที่อยู่อาศัย อาหารเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การศึกษาจึงเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต เป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาทุก ๆ ด้านของชีวิตและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตในโลกที่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่าง รวดเร็ว และส่งผลกระทบให้วิถีดำรงชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันการศึกษายิ่งมีบทบาทและความจำเป็น มากขึ้นด้วย การศึกษาที่จะช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี มีความสุข จะต้องมีลักษณะ ที่สำคัญดังนี้

1. เป็นการศึกษาที่ให้ความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เช่น ความรู้และทักษะทางด้านภาษา การคิดคำนวณ ความเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น สภาพปัจจุบันมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้น พื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี จึงจะเพียงพอกับความต้องการและความจำเป็นที่จะยกระดับ คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

2. การศึกษาทำให้คนเป็นคนฉลาด เป็นคนมีเหตุผล คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และ รู้จักวิธีแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการงานอาชีพ

3. การศึกษาต้องสร้างนิสัยที่ดีงาม ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนโดยเฉพาะนิสัยรักการ เรียนรู้ และนิสัยอื่น ๆ เช่นความเป็นคนซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รับผิดชอบ เป็นต้น

4. การศึกษาต้องสร้างความงอกงามทางร่างกาย มีสุขภาพพลามัยที่ดี รู้จัก รักษาตนให้แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ และสารพิษ

5. การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมให้ความร่วมมือกับผู้อื่นในสังคม อยู่รวมกับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสร้างสังคมที่สงบเป็นสุข รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน 6. การศึกษาต้องทำให้คนมีทักษะการงานอาชีพที่เพียงพอกับการเข้าสู่การงานอาชีพ รู้จักการประกอบอาชีพและรู้จักพัฒนาการงานอาชีพ

ทั้ง 6 ประการ เป็นพื้นฐานทางการศึกษาที่จำเป็น ที่คนจะต้องได้รับรู้อย่างทั่วถึงทุกคน ถ้าทุกคนได้รับอย่างครบถ้วน เพียงพอก็จะทำให้เกิดทักษะลักษณะและนิสัยที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพียงสำหรับคนบางคน แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ขาดความพร้อมในปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีความ จำเป็นมากที่สุด คนที่ขาดความพร้อมต้องการการศึกษามาก มักเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมตลอดเวลา การศึกษาที่ได้รับก็มักเป็นบริการที่กระท่อนกระแท่น ไม่เพียงพอกับการเรียนรู้ที่เหมาะสม ไม่พอแม้เพียงเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ตรงข้ามกับผู้ที่มีความพร้อมพอจะช่วยตนเองได้ กลับได้รับบริการที่มีคุณภาพและปริมาณที่ดีกว่ามาก ดังจะเห็นได้จากสถานศึกษาในเมืองกับในชนบท ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การศึกษานอกจาก จะไม่สามารถสร้างความพร้อมที่เพียงพอกับผู้ต้องการแล้ว ยังส่งเสริมให้ช่องว่างระหว่าง คนรวยกับคนจนแตกต่างกันมากขึ้นด้วย เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์การศึกษาเสียใหม่ให้หันมาให้ความสำคัญกับคนยากจนคนเสียเปรียบ และคนด้อยโอกาสให้มากขึ้นทรัพยากรของรัฐต้องนำมาใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงบริการการศึกษา สำหรับคนยากจนให้ดีขึ้นเป็นพิเศษ ให้เพียงพอกับการสร้างลักษณะนิสัยและความพร้อมที่จำเป็น ถ้าคนยากจน คนเสียเปรียบ คนด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยายและยังทำให้เขากลายเป็นกำลัง สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดีด้วย

การศึกษานอกจากเป็นปัจจัยที่ 5 แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย
ระบบการศึกษาไทยสำหรับอนาคต หากจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งเป็นผู้รับบริการการศึกษา โดยจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้ใหม่ ต้องมองว่าผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน คือลูกค้าที่มารับบริการการศึกษาและคำปรึกษาแนะนำ ฝ่ายจัดการศึกษาต้องให้บริการการศึกษาที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า ปัจจุบันนักการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการของทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ไม่ใช่จัดตามความต้องการของนักวิชาการศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่เพียงฝ่ายเดียว ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีการปฏิรูปการศึกษา โดยให้โรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถบริหารเองโดยอิสระในรูปของ Charter Schools ไม่ต้องใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดเหมือนโรงเรียนรัฐบาลปกติทั่วไปที่บริหารโดยภาครัฐ แต่ให้กำหนดมาตรฐานหรือธรรมนูญของโรงเรียน (Charter) ว่าโรงเรียนจะให้บริการการศึกษาอย่างไรแก่ผู้เรียนและผู้ปกครอง เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายลูกค้าได้มีทางเลือก โดยทางฝ่ายโรงเรียนต้องตระหนักในพันธะสัญญา (Commitment)ว่าจะจัดการศึกษาให้ดีที่สุดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน Charter และมี Accountability คือยอมรับที่จะให้ทางฝ่ายผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชนสามารถตรวจสอบได้ว่าโรงเรียนทำได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ การศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์จะเป็นการศึกษาที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ให้สังคมเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ทั้งฝ่ายผู้บริหารการศึกษาแะฝ่ายผู้รับบริการคือผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชน ฝ่ายแรกได้รับความเชื่อถือ ฝ่ายหลังก็มีความพึงพอใจในคุณภาพการศึกษาที่ได้รับในด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจะให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อยากเห็นเยาวชนไทยมีความรู้ ความสามารถในด้านการคิด ทักษะในการทำงาน มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ตัดสินใจเพื่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ และอยากเห็นเยาวชนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เจริญงอกงามครบสมบูรณ์ทุกด้าน เติบโตเป็นทั้งคนดีและคนเก่งของสังคม แต่สังคมไทยในปัจจุบันกลับมีการแสดงออกในทิศทางที่ตรงกันข้าม เช่น ผู้คนมักแสดงออกตามกระแสนิยม ความคิดไม่เข้มแข็งพอ ส่งผลให้สภาพสังคมอยู่ในสภาวะแตกแยก ทักษะและค่านิยมในการทำงานต่ำ จึงไม่มุ่งทำงานเพื่อให้เกิดคุณภาพของงาน และผลงานที่นำประโยชน์สู่สังคมโดยรวม จากการวิเคราะห์ ผลเหล่านี้ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปจนสั่งสมเป็นวัฒนธรรมแบบไม่เอื้ออาทรต่อกัน และละเลยกฎเกณฑ์ทางสังคม จนกระทั่งก้าวเลยไปถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคมโดยรวม สำหรับในด้านการศึกษา ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเร่งรัดในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม แต่ก็ยังไม่ได้เน้นย้ำให้ชัดเจน เช่น รัฐบาลยังไม่ได้คัดเลือกบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องเป็นคนดีในสังคม ซึ่งในสังคมไทยก็มีไม่น้อย เพื่อมาเป็นตัวอย่างให้เยาวชนยึดเป็นแบบอย่างให้ชัดเจน เพราะแบบอย่างที่ดีจะเกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเป็นไปตามประสบการณ์ และสังคมแวดล้อมสำคัญในการจัดการศึกษา

การจัดการศึกษาให้ได้ผลดีและเกิดผลคุณภาพในเกณฑ์ระดับสูงได้นั้น ควรเพิ่มหลักการสำคัญในการพัฒนา 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ผู้เรียนควรมีมาตรฐานอะไรบ้าง และกำหนดมิติคุณภาพในแต่ละมิติ เช่น มิติคุณภาพด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านเจตคติ แล้วจัดเป็นระดับคุณภาพในแต่ละมิติจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการฉายคุณภาพแบบภาพรวมของนักเรียนทุกคน แล้วนำมายึดเป็นธงหรือคุณภาพเป้าหมายให้เหมือนๆ กัน เป็นหลักการที่ทุกคนนำไปใช้พัฒนาได้จริง ดังนั้น ธงหรือคุณภาพเป้าหมายทางการศึกษาจึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของระบบการเมืองไปเรื่อยๆ จนทำให้การบริหารและการพัฒนาขาดความต่อเนื่อง และไร้เป้าหมาย

ประการที่สอง ควรดำเนินการติดตามตรวจสอบ ต้องใช้ระบบการประเมินที่สอดคล้องกับความเป็นเหตุเป็นผลกันของวิธีการกับผลที่ต้องการ รวมทั้งต้องพัฒนาหาวิธีการประเมินที่ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองน้อย แต่ได้ผลและเกิดผลดีอย่างถาวร เพื่อนำไปใช้เป็นหลักการในการขยายผล และไม่ควรใช้วิธีแบบเน้นผลงานแบบเร่งด่วน ผิวเผินแต่ขาดหลักการพัฒนา จึงได้แต่ผลแบบที่มีคุณภาพต่ำ สิ้นเปลืองและไม่คุ้มค่า

ประการที่สาม การนำเสนอผลงานหรือระบบการรายงานผล ต้องเน้นให้เป็นลักษณะการนำเสนอในรูปแบบการแสดงออกจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากการคิด ผลงานจากการปฏิบัติ จึงต้องเน้นย้ำผลคุณภาพที่ประกอบไปด้วยการปฏิบัติจริง คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และความชื่นชม ซึ่งต้องการวัดและการประเมินด้วยผลงานจริง จากการลงมือทำจริง ยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงาน การดำเนินงานจึงต้องพิจารณาแนวทางที่นำไปสู่ผลได้จริง เพื่อให้เป็นหลักการสำคัญของการที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยตรง เริ่มต้นจาก ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับนโยบายกำหนดว่า คุณภาพเป้าหมายของผู้เรียนที่ชาติต้องการ เป็นคุณภาพเป้าหมายแบบใด ต้องกำหนดคุณลักษณะภาพของคนไทยที่เป็นแบบอย่างและเป็นสัญลักษณ์ของคนไทย มาประกาศให้เป็นตัวอย่างภาพรวมของชาติ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการได้นำไปกำหนดในหลักสูตร เพื่อกำหนดให้ผู้เรียนต้องมีความคิดที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการผลิตผลงาน ร่วมพัฒนาสังคม และมีจิตใจงดงามแบบไทย เมื่อเราได้ภาพบุคคลคนไทยในอุดมคติแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้รางวัลตามผลแห่งคุณภาพ ทำให้โรงเรียนเห็นภาพฉายของบุคคลแห่งคุณภาพได้ชัดเจน และนำไปใช้สอนในโรงเรียนได้ และนำไปใช้เป็นเกณฑ์ตรวจสอบคุณภาพในการจัดการศึกษาของแต่ละสถานศึกษา จึงจะเห็นผลคุณภาพที่เป็นจริง ซึ่งต่างจากการเน้นสอบเพียงอย่างเดียว เพราะมีสถานศึกษาจำนวนมากที่ไม่สามารถอธิบายถึงความหมายของคะแนนที่นักเรียนสอบได้ เช่น นักเรียนสอบได้ร้อยละ 90 แต่ผู้บริหารหรือครูผู้สอนไม่สามารถอธิบายได้ว่านักเรียนคนนั้นคิดอะไร ทำอะไร แก้ปัญหาอะไรเป็นบ้าง ผลของการคิด การทำ การแก้ปัญหา ก็ไม่มีร่องรอยให้เห็น
ดังนั้น การสอบจึงเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการวัดผลประเมินผลเชิงคุณภาพเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น องค์กรทางการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจึงต้องทำงานอย่างมีหลักการเชิงระบบ เพื่อให้เกิดคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริง คือกำหนดเป้าหมายงานให้ชัดเจน เป็นจริง เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ แล้วประเมินได้ด้วยผลงานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง, หาแนวทาง วิธี ขั้นตอนปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเมื่อลงมือทำแล้วเกิดความสำเร็จได้จริง และมีการตรวจสอบที่สอดคล้องกับความเป็นเหตุเป็นผลกันของวิธีการกับผลที่ต้องการ และการรายงานผล ต้องมีงานที่ผู้เรียนทำได้จริง มีคุณภาพตามเกณฑ์มาเสนอประกอบงานด้วย มิใช่รายงานเฉพาะผลจากการสอบด้วยข้อสอบแบบเลือกตอบเท่านั้น เมื่อกำหนดกรอบความคิดชัดเจนแล้ว จึงดำเนินการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน อาจโดยการจัดประชุม อบรมให้กับครูอาจารย์เพื่อนำไปปฏิบัติจริง แนวทางดังกล่าวจะช่วยเสริมให้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการเพิ่มคุณภาพผู้เรียน ด้วยการเพิ่มคุณภาพวิธีจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู และวิธีเรียนรู้ของผู้เรียน โดยให้เน้นการจัดการความรู้หรือการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดผลย้อนกลับไปให้ผู้เรียนเป็นผู้สรุปความคิดรวบยอด หลักการ เป็นความรู้ของตนเอง (Backward Design) โดยใช้วิธีเรียนตามขั้นตอนการเรียนรู้ GPAS ให้สำเร็จได้โดยง่าย (G=Gathering ขั้นเลือกข้อมูล, P=Process ขั้นจัดข้อมูล คิดวิเคราะห์ วิจารณ์, A=Applying ขั้นนำไปใช้ โดยกำหนดขั้นตอน และลงมือปฏิบัติ, S=Self-Regulating ขั้นเรียนรู้เอง รู้จักประเมินเพื่อเพิ่มคุณธรรมจนเป็นนิสัย กลายเป็นตัวตนของผู้เรียน)
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุดของชาติ (Ultimate Goal) ที่ว่า เรียนมีคุณภาพ (Quality Learner) ต้องมีการจัดระบบการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีแนวทางการพัฒนาที่โดยมีจุดหมายปลายทางที่มองเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเพื่อการศึกษาไทยจะได้พัฒนาในอนาคตต่อไป

บรรณานุกรม

บทความการศึกษา” ใน www.student.chula.ac.th/~49447199/Related%20word.htm
กมลชนก มูสิกพันธ์ นวัตกรรม30 (กมลชนก EN) " คุณภาพการศึกษาไทย
ใน learners.in.th/blog/kate2/22222
กรอบความคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา” ใน www.swuaa.com/.../index.php?option

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น