วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

MODELนักบริหารมืออาชีพ

ตัวแบบ (Model ) ของการเป็นนักบริหารมืออาชีพมีดังนี้
1. เป็นผู้มีความพร้อมทางด้านข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ (Command of Basic Facts) การเป็นผู้บริหารนั้นต้องรู้ความเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและนอกองค์กร โดยมีข้อมูลและสารสนเทศ ช่วยในการดำเนินการ และบริหารงาน ให้บังเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้
2. เป็นผู้มีความรู้ทางวิชาชีพ (Relevant Professional Knowledge) การเป็นนักบริหารมืออาชีพนั้นต้องมีความรู้ที่รวมถึงความรู้ทางเทคนิค เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ทางการบริหาร เช่น หลักการทฤษฎีการบริหาร การวางแผน การจัดองค์กร หลักสูตร การสอน การวัดผลประเมินผล เหล่านี้เป็นต้นเพื่อที่จะพัฒนาตนเองและบริหารโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพต่อไปได้
3. เป็นผู้มีความรู้เท่าทันในสถานการณ์ (Continuing Sensitivity to Events) การเป็นนักบริหารต้องสามารถปรับตัวและสนองได้ฉับไวและต่อเนื่องกับสถานการณ์รอบด้าน และดำเนินบทบาทได้อย่าง เหมาะสม รวดเร็ว และเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้างเป็นอย่างดี
4. เป็นผู้มีทักษะในการเข้าสังคม (Social Skills and Abilities) โดยการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เช่น การสื่อสาร การกระจายอำนาจ การเจรจาต่อรอง การมอบหมายงาน การสมาคม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้เป็นอย่างดี
5. เป็นผู้มีทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหา และการตัดสินใจ (Analytical , Problem Solving , Decision Making Skills) การเป็นนักบริหารนั้นต้องอาศัยหลักตรรกศาสตร์ การใช้เหตุผลและ วิจารณญาณเข้าช่วย เพื่อรักษาความสมดุล ให้เกิดขึ้นทุกๆ ด้านในองค์กร
6. เป็นผู้ที่สามารถควบคุมอารมณ์ (Emotion Resilience) ผู้บริหารต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มั่นคงในอารมณ์ ไม่หวั่นไหวง่าย จะต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกมีจิตระลึกเสมอ และแสดงออก ได้อย่างเหมาะสม
7. เป็นผู้มีพฤติกรรมกล้าเสี่ยง (Pro activity inclination to Respond Purposefully to events) ผู้บริหารการศึกษา มืออาชีพต้องมองงานได้อย่างทะลุปรุโปร่ง รู้ระบบการทำงานอย่างดี รู้ภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งตนเองและสมาชิกในองค์กร และรู้รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว และเป้าหมายโดยรวม
8. เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity) การเป็นผู้บริหารต้องริเริ่มโครงการใหม่ๆ และทำให้สำเร็จ เป็นที่ยอมรับ ของบุคคลทั่วไป ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นวิธีการที่เกิดการยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่ดี มีความละเอียดรอบคอบ และยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม
9. เป็นผู้มีความรู้สึกไวต่อบุคคลอื่น (Mental Agility) เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา สามารถค้นหาทางเลือก ได้หลากหลายเพื่อการแก้ไขปัญหา รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้เกียรติและสนใจในความรู้สึก ของคนอื่น
10. เป็นผู้มีความรู้และฝึกฝนการเรียน (Balanced Leaning Habits and Skills) ต้องรู้ว่าจะรู้ต้องรู้อะไร และต้องรู้ให้จริง ต้องคิดเป็นคิดได้ และสามารถบูรณาการความรู้ไปประยุกต์ ใช้ได้ สามารถสร้างทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ ได้จากการปฏิบัติงาน สามารถพัฒนางานวิชาการ และรูปแบบวิธีการจากทฤษฎีได้

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาทางเลือก

"การศึกษาทางเลือก" (Alternative Educaton)
เมื่อชุมชนปฏิรูปการศึกษาเอง เมื่อพูดถึง "การศึกษา" คนส่วนใหญ่ก็จะนึกไปถึงโรงเรียนหรือสถานศึกษา อันเป็นระบบการให้ความรู้แก่ประชากรที่รัฐจัดขึ้น โดยเชื่อกันว่าเป็นระบบการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่ดีที่สุด แม้กระทั่งคิดกันว่าถ้าไม่ไปโรงเรียนก็ "ไม่มีความรู้"
นี่เป็นโลกทรรศน์ความเข้าใจของสังคมไทยที่เกิดขึ้นมานานกว่าร้อยปี นับแต่ที่เรามีระบบโรงเรียนเรื่อยมาแต่ในความเป็นจริง ระบบการศึกษาแบบโรงเรียนกำลังประสบความล้มเหลวไม่เพียงแต่ในสังคมไทย หากแต่ในโลกทั่วไป เนื่องจากระบบการผลิตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร นำมาซึ่งกระแสคิดการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในทรัพยากรมนุษย์
บนความเชื่อที่ว่า การศึกษาคือเครื่องมือพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด เราจึงได้เห็นกระแสการปรับตัวของระบบการศึกษาที่กำลังดำเนินไปทั่วโลก เช่นกับการศึกษาไทยที่ผูกติดกับระบบราชการตลอดมา ก็ถึงจุดวิกฤตและต้องปรับตัว เสียงเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา ด้านหนึ่งได้สะท้อนถึงอารมณ์ของสังคมที่มีต่อการศึกษาของลูกหลาน อย่างน้อยก็คือ ความต้องการที่จะให้ลูกหลานไทยมีความสุขกับการเรียนรู้ได้มากกว่าที่ผ่านมา จนถึงการตั้งคำถามต่อบทบาทของโรงเรียนในโลกยุคใหม่ (Post Schooling) และข้อเท็จจริง ความจริงจังของรัฐในการปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้จนล่วงเข้าปีที่สี่ ยังคงเน้นความสำคัญ และการทุ่มเททรัพยากร แก่ระบบการศึกษา อย่างเป็นทางการ
โดยมิได้เข้าใจถึงสถานการณ์ข้อเท็จจริง ที่เวลานี้ภาคประชาชนเกิดการขยายตัว รวมกลุ่ม จัดตั้งตนเองกันราวกับดอกเห็ดหน้าฝนถึง ๖๐,๐๐๐ กว่ากลุ่มทั่วประเทศ เพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบและเนื้อหาต่างๆ อย่างหลากหลายน่าทึ่งยิ่งนัก อันเนื่องมาจากความต้องการที่จะฟื้นคืนบทบาทและสิทธิการจัดการศึกษาแก่ลูกหลาน ด้วยความตระหนักรู้ว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น ได้พรากลูกหลานของเขาไปจากชุมชนมาช้านานแล้ว
ในขณะที่ความรู้ของชุมชนและวัฒนธรรมกำลังอ่อนแอลง ชุมชนจะต้องกอบกู้สถานการณ์ของตน ด้วยการใช้ความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ สร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับปัญหา และชีวิตจริงของชุมชนขึ้นมาด้วย ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงความหมายอย่างกว้างของ "ความรู้" และ "การศึกษา" อันเป็น กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มิได้มีเป้าหมายในการสนับสนุนความสามารถของปัจเจกบุคคลหรือปริญญาบัตรเท่านั้น หากแต่มุ่งหมายเพื่อการแก้ปัญหาของส่วนรวม ความรู้ของชุมชนจึงเป็นความรู้สาธารณะ ที่มีฐานการเรียนรู้อยู่บนฐานของชีวิตและวัฒนธรรม หรือการเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง (Problem base) ไม่ใช่การเอาวิชาเป็นตัวตั้ง (Content base) เป็นความรู้ในเชิงปฏิบัติ (Pragmatism) ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน โดยมีแนวคิดด้านการแบ่งปันเอื้อเฟื้อและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จนกล่าวได้ว่าเป็นความรู้ที่มีมุมมองทางศาสนธรรมกำกับ อาทิ ความรู้ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่เคารพธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่น ความรู้ด้านสัจจะออมทรัพย์ที่เน้นความมั่นคงของชุมชนส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีการสืบทอดผ่านปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เยาวชน โดยชุมชนหลายแห่งมีการรวบรวมองค์ความรู้ จัดทำหลักสูตร จัดระบบแบบแผนและกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้กันอยู่อย่างคึกคักต่อเนื่องรวมถึงการร่วมมือข้ามกลุ่มข้ามชุมชน เกิดเป็นเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
อาจกล่าวได้ว่านี่คือกระแสการเรียนรู้ทางเลือก ที่น่าจะเป็นการศึกษาในความหมายที่แท้จริง อันหมายถึงการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทั้งปัจเจกและชุมชน เป็นการเรียนรู้ความดี ความงาม ความจริงเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ และเป็นการศึกษาที่แก้ทุกข์แก้จนได้ ซึ่งสำคัญกว่า "เก่ง ดี มีความสุข" ของใครของมันเสียอีก
การศึกษาทางเลือกดังกล่าวนี้ พบว่าจำแนกได้ ๗ ฐานการเรียนรู้คือ
๑.การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัวหรือ Home School ครอบคลุมทั้งแบบครอบครัวเดี่ยวและกลุ่มครอบครัวหรือเครือข่าย ปัจจุบันมีอยู่เกือบ ๑๐๐ ครอบครัวทั่วประเทศ
ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก สำหรับเด็กที่ชอบสนุกกับการเรียนอยู่กับบ้าน มากกว่าโรงเรียน
๒.การศึกษาทางเลือกที่อิงกับระบบของรัฐ ได้แก่ โรงเรียนในระบบที่จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ เน้นการปฏิบัติและประสบการณ์ของผู้เรียน มีการสร้างเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้อยู่เสมอ โดยโรงเรียนต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้เด็กๆ นอกหลักสูตร เช่น
พาเด็กๆ ไปเรียนรู้วิถีชาวบ้าน เรียนรู้กับพ่อครูแม่ครู ก็นับได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกเช่นกัน เช่น โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนปัญโญทัย เป็นต้น
๓.การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา ได้แก่ พ่อครูแม่ครู ปราชญ์ชาวบ้าน ที่สังกัดกลุ่มหรือเครือข่าย และดำเนินการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ชนรุ่นหลังทั้งแบบเสียค่าใช้จ่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย ในความรู้ด้านศิลปะการช่าง การแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร การอ่านเขียนอักษรโบราณ นาฏศิลป์พื้นบ้าน เป็นต้น

๔.การศึกษาทางเลือกสายศาสนธรรม ซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้แก่สมาชิกและสาธารณะโดยเน้นศาสนธรรม มีกิจกรรมการฝึกฝนจิตใจและวิถีชีวิตทั้งแนวปฏิบัติธรรม การปฏิบัติสมาธิ แนวต่อต้านบริโภคนิยม แนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ได้แก่ สัมมาสิขาสันติอโศก ปอห์เนาะ
๕.การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบรัฐ ได้แก่ กลุ่มกิจกรรมทางการศึกษาที่มีเจตนาในการจัดการเรียนรู้แก่กลุ่มเป้าหมายของตน ในรูปแบบกระบวนวิชา การฝึกอบรม การบรรยาย เช่น สถาบันการเรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชน ศูนย์ ชมรม อาทิ เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิชชาลัยชุมชนปักษ์ใต้ โรงเรียนใต้ร่มไม้ โรงเรียนชาวนา สถาบันโพธิยาลัย เป็นต้น
๖.การศึกษาทางเลือกของกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เป็นภาคการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด ทั้งกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมออมทรัพย์ การเกษตร การแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม การอนามัยและสาธารณสุข การป้องกันยาเสพติด สิทธิชุมชน เป็นต้น
๗.การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ ทั้งที่ผ่านสื่อสารมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และสื่อสมัยใหม่อย่างเว็บไซต์ รวมถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่ให้สาระความรู้ มีความต่อเนื่อง ก่อเกิดการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ การศึกษาทางเลือกจึงเป็นกระบวนการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ที่กำลังบอกแก่สังคมไทยว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีผลในทางพัฒนาประชากรและแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ เป็นการศึกษาที่อิงอาศัยฐานทรัพยากร ฐานวัฒนธรรมและฐานภูมิปัญญาของแผ่นดินไทยเป็นสำคัญ ในโลกที่รัฐอ่อนแอลงแต่สังคมมีขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น มีวิกฤตหลายด้าน เป็นธรรมดาธรรมชาติที่จะเกิดมีการแสวงหาทางเลือกนอกเหนือระบบหลักที่มีอยู่จึงแทนที่จะกีดกันความรู้และการเรียนรู้เหล่านี้ออกไปนอกภาครัฐ น่าที่การปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติเวลานี้ จะเปิดที่ทางให้การศึกษาทางเลือก ได้หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบความรู้ของสังคมไทย

การนิเทศการศึกษา

การนิเทศภายในโรงเรียน

การนิเทศการศึกษาเป็นการศึกษาแขนงหนึ่งที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการดำเนินงาน การเป็นศาสตร์นั้น การนิเทศการศึกษามาจากเหตุและผล โดยใช้หลักการแนวคิด ทฤษฏีที่ผ่านการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับแล้วมาใช้แก้ปัญหานั้น ๆ ได้ วิธีการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา การนิเทศการศึกษาต้องอาศัยความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ กระบวนการ วิธีการหลาย ๆอย่างประกอบกันทั้งด้านจังหวะ เวลา กาลเทศะ สิ่งแวดล้อม ประกอบเข้าด้วยกันจึงทำให้การนิเทศประสบผลสำเร็จ การนิเทศการศึกษาจึงเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกัน
การนิเทศติดตามเป็นขั้นตอนหนึ่งและเป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารงาน การนิเทศจะช่วยแก้ไขปรับปรุงส่วนที่บกพร่องให้มีการพัฒนา ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับครู นักเรียนจึงย่อมทราบปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนภายนอก เพราะฉะนั้นการนิเทศภายในโรงเรียนจะสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของบุคลากรในโรงเรียนได้อย่างดี

1. ความหมายของการนิเทศ
ความหมายของการนิเทศ พิจารณาได้ทั้งตามความหมายของรูปศัพท์ และตามความหมาย ตามแนวทางของการบริหาร กล่าวคือ
ความหมายตามรูปศัพท์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายของ “การนิเทศ” ว่า หมายถึง การชี้แจง การแสดง การจำแนก
การนิเทศ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Supervision ซึ่งประกอบด้วย Super และ vision คำว่า Super หมายถึง ดีมาก วิเศษ vision หมายถึง การเห็น การมอง การดู พลังในการจินตนาการ
ฉะนั้น Supervision จึงหมายถึง การมองเห็นที่ดีมาก เห็นโดยรอบ การดูจากที่สูงกว่า การมองจากเบื้องบน การมีโลกทรรศนะกว้างขวางกว่า
บุคคลที่ทำหน้าที่นิเทศ เรียกว่า Supervision ภารกิจหรือหน้าที่ของผู้นิเทศ คือ ให้การนิเทศ หรือ Supervise ได้แก่ การช่วยเหลือ แนะนำ ชี้แจง ปรับปรุง เพื่อช่วยให้บุคลากรภายใต้ความรับผิดชอบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังเผชิญอยู่ให้ลุล่วงไปด้วยดี รวมทั้งพัฒนางานที่บุคลากรกำลังปฏิบัติอยู่ ให้มีวิธีที่เหมาะสม มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
นักการศึกษาหลายท่านทั้งนักการศึกษาของไทยและต่างประเทศให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาไว้หลายแนวคิด ที่น่าสนใจและนำมาศึกษามีดังนี้
สมบัติ จันทรเกษม ( 2534 ) ให้ความหมายไว้ว่า การนิเทศ ( supervision ) แปลว่า การให้คำช่วยเหลือ แนะนำ หรือปรับปรุง สอดคล้องกับความหมายของ เมตต์ เมตต์การุณจิต ( 2543 )ที่กล่าวว่าการนิเทศ คือการให้คำปรึกษาแนะนำและให้ความช่วยเหลือต่อกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
สาย ภาณุรัตน์ (2517 : 25) กล่าวไว้ว่า การนิเทศการศึกษา คือการช่วยเหลือให้ครูเติบโต พึ่งตนเองได้ แล้วนำผู้ที่พึ่งตนเองได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม นั่นคือการนิเทศเพื่อไม่ต้องนิเทศ
สงัด อุทรานันท์ (2529 : 7) ให้ความหมายไว้ว่า การนิเทศการศึกษา คือกระบวนการทำงานร่วมกับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งสัมฤทธิ์ผลสูงสุดในการเรียนของนักเรียน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2540 : 1) นิยามความหมายไว้ว่าการนิเทศการศึกษา คือการที่ผู้นิเทศใช้กระบวนการ กระตุ้น ยั่วยุ ท้าทาย ริเริ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ สนับสนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนตามความจำเป็นของการพัฒนาโดยผ่านครูและผู้บริหารโรงเรียน
ไวลส์ (Wiles. 1967 : 6) ให้ความเห็นไว้ว่า การนิเทศการศึกษาเป็นความช่วยเหลือในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ เอลสบรี (Elsbree. 1967 : 139) ที่ให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาไว้ว่า การนิเทศการศึกษาคือกระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
จากความหมายของการนิเทศการศึกษาดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่า มีความแตกต่างกันและไม่มีข้อจำกัดที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของการศึกษา จุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละยุคแต่ละสมัยแต่ก็สรุปได้ว่าการนิเทศการศึกษา คือกระบวนการในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศเป็นความพยายามที่จะให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือ เกี่ยวกับการปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอนของครูให้ดีขึ้น
สรุป การนิเทศการศึกษา รวมถึงการนิเทศภายในโรงเรียน หมายถึง การส่งเสริมสนับสนุน หรือการให้ความช่วยเหลือครูในการดำเนินการใดๆให้ประสบความสำเร็จ ทำให้ครูมีความพึงพอใจ มีกำลังใจ ที่จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ ของโรงเรียน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และส่งผลให้โรงเรียนเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย อีกทั้งผ่านการประเมินทั้งภายในและภายนอก

2. ความสำคัญ และความจำเป็นของการนิเทศภายในโรงเรียน
การนิเทศภายในโรงเรียน เป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหารโรงเรียน ที่จะช่วยพัฒนาครูให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตรงตามความต้องการพัฒนานักเรียนสอดคล้องกับหลักสูตร ด้วยเทคนิควิธีการที่มีประสิทธิภาพ มีพฤติกรรมเป็นครูมืออาชีพ และส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจ ขวัญ และกำลังใจดี มีความภาคภูมิใจในผลงานของตน
จะเห็นว่าการนิเทศการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาในสถานศึกษา ให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจในหลักสูตร สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะละเลยไม่มีการนิเทศการศึกษาได้อย่างไร

3. ความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา
ความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา ตามทัศนะของนักการศึกษาแต่ละคนแตกต่างกันแต่โดยเนื้อหาสาระแล้วมีจุดมุ่งหมายไปในแนวเดียวกัน
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2534 : 8) กล่าวถึงความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาว่าเป็นการมุ่งปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยมุ่งช่วยให้ครูได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในการสอน ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกัน
สงัด อุทรานันท์ (2529 : 7 – 8) กล่าวไว้ว่า การนิเทศการศึกษามุ่งพัฒนาคนคือครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มุ่งพัฒนางานการสอนของครูให้ดีขึ้น มุ่งสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างผู้ร่วมงานและสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติงาน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2533 ก : 7)ได้กำหนดความมุ่งหมายของการนิเทศไว้ว่าเพื่อช่วยให้ครูมองเห็นปัญหา สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็ก ช่วยให้บุคลากรในโรงเรียน เข้าใจจุดมุ่งหมายของการศึกษา และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่ครูและผู้เกี่ยวข้อง ช่วยพัฒนาครูในด้านความรู้ ความสามารถและทักษะในการสอน ช่วยให้เกิดการประสานงานกับผู้บริหารการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาในโรงเรียน ช่วยให้ครูใหม่เข้าใจงานในโรงเรียนและอาชีพครู รวมทั้งช่วยในด้านการประชาสัมพันธ์และสร้างครูให้มีลักษณะแห่งความเป็นผู้นำ
บริกส์และจัสท์แมน (Briggs and Justman. 1952 : 539) กล่าวว่า การนิเทศการศึกษามีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางอาชีพแก่ครู ส่งเสริมความเจริญงอกงามของครู ปรับปรุงการสอนของครูให้ดีขึ้น ส่งเสริม แนะนำและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
จากความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาของนักการศึกษาที่นำมากล่าวถึงข้างต้น จะเห็นว่าการนิเทศการศึกษามุ่งที่จะพัฒนาครูผู้สอนเป็นหลัก เนื่องจากปรัชญาของการนิเทศการศึกษามีความเชื่อว่าครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในกระบวนการจัดการศึกษา เพราะครูเป็นผู้นำกระบวนการและองค์ประกอบอื่น มาใช้เพื่อให้เกิดผลการเรียนรู้แก่เด็ก (วิเวก สุขสวัสดิ์. 2537 : 13)
จึงสรุปได้ว่า การนิเทศการศึกษามีความมุ่งหมายเพื่อมุ่งช่วยเหลือ แนะนำ ปรับปรุงและส่งเสริมครูให้พัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะเอาความสามารถของครูออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อันจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน ความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนและโรงเรียนในที่สุด หรือสรุปได้เป็น 4 ข้อ ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาคนและบุคลากรทางการศึกษา
2. เพื่อพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้
3. เพื่อการสร้างความสัมพันธ์อันดี
4. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

4. ความจำเป็นในการนิเทศภายในโรงเรียน
เหตุที่ต้องมีการนิเทศภายในโรงเรียน เกิดจากโรงเรียนประสบกับสภาพปัญหาและความต้องการที่จะพัฒนาการศึกษาให้ดีที่สุด แต่การนิเทศจากภายนอกโรงเรียนไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาตรงตามความต้องการได้ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบหรือวิธีการนิเทศภายใน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( 2533 ) ได้กล่าวถึงความจำเป็นของการนิเทศภายในโรงเรียนว่า
1. ศึกษานิเทศก์มีจำนวนจำกัด นิเทศได้ไม่ทั่วถึง
2. สภาพปัญหาและความต้องการของโรงเรียนแต่ละแห่งแตกต่างกัน
3. บุคลากรในโรงเรียนปัจจุบันมีศักยภาพสูง การนิเทศภายในจะช่วยกระตุ้นครูได้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุด
4. คุณภาพการศึกษาเกิดจากความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโรงเรียน การนิเทศภายในจะส่งเสริมและเร่งระดมความร่วมมือได้ดีที่สุด

5. กระบวนการนิเทศภายใน
กระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษา ประกอบด้วย การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา อุปสรรคและความต้องการ การวางแผน ดำเนินการตามแผน การสร้างสื่อเครื่องมือและพัฒนาวิธีการนิเทศ ติดตามและประเมินผลรายงานตามลำดับ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการ
ขั้นที่ 2 วางแผนและกำหนดทางเลือก
ขั้นที่ 3 การสร้างสื่อ นวัตกรรม และเครื่องมือตลอดจนการพัฒนาวิธีการต่าง ๆ
ขั้นที่ 4 การปฏิบัติการนิเทศ
ขั้นที่ 5 การประเมินผลและรายงานผล
ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการนิเทศการศึกษา มีแนวทางในการดำเนินการนิเทศ ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2541 : 7 – 8)
1. การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการพัฒนา เป็นการศึกษาข้อมูลของผู้รับการนิเทศในความรับผิดชอบ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น แบบสำรวจ แบบสอบถาม แบบประเมินตนเอง ศึกษาจากผลการดำเนินการ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การจัดทำแผนการสอน การจัดทำธุรการห้องเรียน ผลงานครู ผลงานนักเรียน เป็นต้น
2. การวางแผนและกำหนดทางเลือก
2.1 พิจารณาความสัมพันธ์ของจุดพัฒนากับการนิเทศว่าจุดพัฒนาสอดคล้องกับปัญหา
โดยรวม/เฉพาะที่ เทคนิควิธีที่ควรนำมาใช้ ทรัพยากรที่มี และศักยภาพของผู้นิเทศ
2.2 กำหนดทางเลือก
2.3 วางแผนการนิเทศร่วมกับผู้รับการนิเทศ
3. การสร้างสื่อ เครื่องมือและพัฒนาวิธีการ แสวงหาสื่อ เครื่องมือตามที่วางแผนไว้โดยการจัดหา จัดทำตามความเหมาะสม
4. ปฏิบัติการนิเทศการศึกษา เป็นการปฏิบัติการนิเทศตามแผนที่วางไว้
5. การประเมินผลและรายงานผล
5.1 ศึกษาการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาของผู้รับการนิเทศ
5.2 ศึกษาผลงานของผู้รับการนิเทศ
5.3 ใช้เครื่องประเมินตามวัตถุประสงค์ของการนิเทศ
5.4 วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล
5.5 สรุป รายงานผล และเผยแพร่ผลงานการนิเทศ

6. หลักการนิเทศภายใน
หากนำความหมายของการนิเทศ หลักการนิเทศดั้งเดิมมาผสมผสานกับแนวคิดการประกันคุณภาพการศึกษา,แนวคิดที่เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน,แนวคิดว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครู และระดับคุณภาพครู/ผู้บริหาร หลักการนิเทศในยุคใหม่ที่ควรจะเป็น ดังนี้
1. การนิเทศการศึกษา จะต้องเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นความร่วมมือ ร่วมใจ ในการดำเนินงาน ใช้ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อให้งานนั้นไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ (Burton and Brueckner, 1955)
2. การนิเทศการศึกษา มุ่งให้ครูรู้จักวิธีคิดค้นการทำงานด้วยตนเอง มีความสามารถ ในการนำตนเอง และสามารถตัดสินปัญหาของตนเองได้ (Adams and Dickey, 1953)
3. การนิเทศการศึกษา ควรเป็นการแสวงหาความสามารถพิเศษ ของแต่ละบุคคล แล้ว เปิดโอกาสให้ ได้แสดงออกและพัฒนาความสามารถเหล่านั้นอย่าง เต็มที่ (Burton and Brueckner, 1955)
4. การนิเทศที่ดี จะต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ยั่วยุและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันและต้องทำให้ครูรู้สึกว่า จะช่วยให้ เขาพบวิธีที่ดีกว่า ในการทำงาน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ (Franseth 1961 : 23 - 28)
5. การนิเทศการศึกษาควรเป็นไปอย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตอง (Briggs and Justman, 1952)

7. การนิเทศงานภายในโรงเรียน
1. การสร้างความเข้าใจแก่ครูเรื่องการนำหลักสูตรไปใช้
1.1 การปรับปรุงเทคนิควิธีสอนของครู
1.2 การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่น
1.3 การจัดแผนการเรียน โครงการสอน ตารางสอน
1.4 การจัดครูเข้าสอน การจัดนักเรียนเข้าเรียน
1.5 การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1.6 การจัดสื่อวัสดุ อุปกรณ์การสอน
1.7 การวัดผลและประเมินผลการเรียน
1.8 การปรับปรุงเครื่องมือและวิธีการวัดผลประเมินผล
2. งานที่เกี่ยวกับการพัฒนาครูในโรงเรียน
2.1 การปฐมนิเทศครูใหม่
2.2 การอบรมพัฒนาครูประจำการ เกี่ยวกับความรู้ความสามารถทางวิชาการ
2.3 การพัฒนาความรู้ความสามารถของครู ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และพัฒนา
ประสิทธิภาพการทำงานระบบกลุ่ม
3. งานเกี่ยวกับการสนับสนุนงานวิชาการและบริการอื่น ๆ
3.1 งานอาคารสถานที่
3.2 งานกิจการนักเรียน
3.3 งานธุรการและการเงิน
3.4 งานสัมพันธ์ชุมชน
การนิเทศภายใน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินงานในหน้าที่ผู้บริหารสถานศึกษา คือ งานวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป โดยเฉพาะงานวิชาการ ถือเป็นงานหลักหรือภารกิจหลักของสถานศึกษาที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่มุ่งกระจายอำนาจในการบริหารจัดการไปให้สถานศึกษาให้มากที่สุด ด้วยเจตนารมณ์ ที่จะให้สถานศึกษา ดำเนินการได้โดยอิสระ คล่องตัว รวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้สถานศึกษามีความเข้มแข็ง ในการบริหารและการจัดการ สามารถพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดผล ประเมินผล รวมทั้งการวัดปัจจัย เกื้อหนุนการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ชุมชน ท้องถิ่น ได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

8. กิจกรรรมสำหรับการนิเทศการศึกษา
ในการที่จะช่วยให้ผู้รับการนิเทศมีความรู้ ความสามรถในการที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นที่ผู้นิเทศต้องจัดกิจกรรมการนิเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สำหรับกิจกรรมการนิเทศนำไปใช้ในการนิเทศภายในมี 8 วิธีด้วยกัน
1. การประชุมก่อนเปิดภาคเรียนและหัวข้อประชุมอย่างน้อยควรประกอบด้วย
1.1 การประเมินผลงานในปี/ภาคเรียนที่แล้วมา
1.2 ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานในปี/ ภาคเรียนที่แล้ว
1.3 โครงการที่จะดำเนินงานในปี/ภาคเรียนต่อไป
1.4 การเตรียมการเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน
1.5 การจัดครูเข้าสอน
1.6 งานเร่งด่วนที่ต้องจัดทำ
2. การสังเกตการสอนในห้องเรียน
3. การศึกษาจากตำราเอกสาร
4. การให้คำปรึกษาหารือ
5. การสนทนาทางวิชาการ
6. การสาธิตการสอน
7. การพาครูไปศึกษาดูงาน
8. การบริการเอกสารทางวิชาการ

9. เทคนิควิธีในการนิเทศ
วิธีการนิเทศภายในโรงเรียนมีหลายวิธี เช่น การเยี่ยมชั้นเรียน การสาธิตการสอน การประชุมกลุ่ม การพบปะเป็นรายบุคคล การฝึกอบรม การผลิตเอกสารทางวิชาการ การค้นคว้าทดลอง การสังเกต ซึ่งผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความสามารถในงานนิเทศเป็นอย่างดีโดยเฉพาะการมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างเพียบพร้อมแล้วงานนิเทศย่อมประสบความสำเร็จ
ปัญหาที่สำคัญ คือ เมื่อมีการนิเทศไปแล้วมักไม่มีการปฏิบัติตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าผู้ทำการนิเทศแนะนำวิธีที่ปฏิบัติยาก จึงไม่เต็มใจปฏิบัติตาม
วิธีการแก้ปัญหา คือ การทำความเข้าใจในจุดประสงค์ของการนิเทศให้ครูได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนิเทศ นอกจากนั้นผู้บริหารอาจมอบหมายให้หัวหน้าสายงาน หัวหน้าฝ่ายมีส่วนร่วมในการนิเทศเพราะโดยปกติแล้วครูจะใกล้ชิดกับหัวหน้าสายงานหัวหน้าฝ่าย มากกว่าผู้บริหารโรงเรียน บรรยากาศของความเป็นกันเองจะมีมากขึ้น

10. องค์ประกอบของการนิเทศภายในสถานศึกษา
1. บุคลากรนิเทศ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษาฝ่ายวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ คณะนิเทศการจัดกระบวนการเรียนรู้ และครูผู้สอน ซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการนิเทศการศึกษาและทำหน้าที่เป็นผู้นิเทศการศึกษาด้วย
2. วิธีการนิเทศ
2.1 กำหนดจุดมุ่งหมายการนิเทศ ที่ส่งเสริมการปฏิบัติงานและความร่วมมือในการทำงานของครูและคณะ ส่งเสริมให้ครูรักงานวิชาการ ทำงานวิชาการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เคารพในหลักการและเหตุผล พยายามปรับปรุงคุณภาพของงาน และช่วยเหลือให้ครูปฏิบัติงานได้สะดวก มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ มีเวลาปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 กำหนดวิธีการหาข้อมูล ศึกษาปัญหาอุปสรรค และประเด็นที่ต้องพัฒนา ได้แก่ การเข้าเยี่ยมชั้นเรียน การสังเกต ปรึกษาหารือ ประเมินผลงานทางวิชาการของโรงเรียน
2.3 กำหนดวิธีหรือกิจกรรมการนิเทศ โดยพิจารณาเลือกวิธีการหรือกิจกรรมต่อไปนี้ตามความเหมาะสมได้แก่ การปฐมนิเทศ การสาธิตการจัดกระบวนการเรียนรู้ การประชุม การอบรม
3. เครื่องมือที่ใช้ในการนิเทศ ได้แก่ แบบทดสอบ แบบสำรวจ แบบสังเกต แบบบันทึกพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกบรรยากาศในชั้นเรียน และเอกสารอ้างอิง